|
เหตุผลที่อัยการสูงสุดยังไม่สั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ้างว่า “สำนวนที่ป.ป.ช. ส่งมา ยังไม่สมบูรณ์” จึงให้ตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาสำนวนใหม่ภายใน 14 วัน
แน่นอนว่านี่คือการพิจารณาของอัยการสูงสุดตามกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ ที่สามารถทำได้ และถือเป็นดุลพินิจของอัยการ อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งในความรู้สึกของสังคมที่เฝ้ามองเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ย่อมต้องมองว่าเป็น “เรื่องผิดปกติ” และช่วยไม่ได้ที่ต้องมองย้อนกลับไปพิจารณาถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่อัยการสูงสุดคนก่อน ก่อนที่มาถึงยุคของอัยการสูงสุดคนปัจจุบันคือ ตระกูลวินิจนัยภาค
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการทำงานของอัยการสูงสุดที่ผ่านมา ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากสังคม ทั้งในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การเข้าไปเป็นกรรมการบอร์ดในบางรัฐวิสาหกิจแล้วเกิดปัญหาการทุจริต แต่เมื่อการพิจารณาสำนวนในชั้นอัยการกลับเกิดข้อสงสัยในการทำหน้าที่ มีการสั่งไม่ฟ้อง จนบางครั้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องฟ้องเอง และต่อมาศาลก็ตัดสินความผิด
ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดคนก่อนก็เพิ่งถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งอัยการสูงสุดคนปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่แทน
ขณะเดียวกัน ทาง ป.ป.ช. โดย วิชา มหาคุณ ในฐานะเป็นเจ้าของสำนวน และดูแลคดีดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น รวมทั้งป.ป.ช. ทั้งคณะ ก็ย่อมรู้สึกเสียหน้า เพราะต้องไม่ลืมว่าการชี้มูลความผิดดังกล่าวเป็น “มติเอกฉันท์” การที่อัยการสูงสุดมาตัดบทว่า “สำนวนไม่สมบูรณ์” มันก็ย่อมเสียความรู้สึกเป็นธรรมดา และปฏิกิริยาจาก วิชา มหาคุณ ที่ “แรง” ที่ระบุว่า อัยการสูงสุด “กำลังมีสถานะง่อนแง่น” โดยเชื่อมโยงไปถึงอัยการสูงสุดก่อนหน้านี้ ที่เพิ่งถูกปลด และย้ำว่าที่ผ่านมาเคยมีการหารือกันแล้วว่า หากเห็นว่าหลักฐานบางอย่างไม่สมบูรณ์ ก็สามารถประสานงานขอมาได้ แต่การที่จู่ๆ กลับมาบอกว่า “ไม่สมบูรณ์” หน้าตาเฉย มันก็ช่วยไม่ได้ที่จะทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา และแน่นอนว่าวิจารณ์อัยการสูงสุดไปในทางลบมากกว่าบวก
เพราะสังคมมองเห็นแล้วว่า โครงการรับจำนำข้าวเต็มไปด้วยการทุจริต สร้างความเสียหายกับรัฐ จากตัวเลขของฝ่ายรัฐเอง เช่น อนุกรรมการตรวจสอบบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีรองปลัดกระทรวงการคลัง สุภา ปิยะจิตติ ก็เคยสรุปออกมาแล้วว่าเสียหายไม่น้อยกว่า สามแสนล้านบาท และล่าสุดเพิ่งมีการสรุปตามมาอีกว่า เสียหายไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท มีชาวนาต้องฆ่าตัวตายไปนับสิบราย นี่คือเครื่องยืนยันถึงความเสียหาย และการทุจริตอย่างมโหฬาร
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการวิจารณ์ในแง่ลบอาจเร็วไปบ้าง เพราะถึงอย่างไรยังอยู่ในขั้นตอน และอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด และเป็นดุลพินิจ สามารถตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาสำนวนร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามขั้นตอนได้ อีกทั้งเพื่อความละเอียดรอบคอบ ทำให้สำนวนมีความรัดกุมรอบคอบขึ้น เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ และไม่ให้หลุดรอดในชั้นศาล หากมองในมุมนี้ก็ยังสามารถฟังได้
เพราะถึงอย่างไร ไม่ว่าอยู่ในขั้นตอนไหน สังคมก็ต้องจับตามองวันยังค่ำ สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก็ต้องถูกวิจารณ์หนักแน่ เพียงแต่ว่ามันต้องมีเหตุผลอธิบายให้สังคมยอมรับได้เท่านั้นเอง
แต่ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปพิจารณาจากการทำงานของอัยการสูงสุด โดยเฉพาะในระยะหลังถูกวิจารณ์หนักในทำนองว่า รับใช้การเมือง หรือเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะผลประโยชน์กับระบอบทักษิณ การทำหน้าที่ถูกวิจารณ์ในเรื่อง “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” การสั่งคดีขัดสายตาของสังคม และปฏิเสธไม่ได้ว่าถูกวิจารณ์ในทางลบมากขึ้น ถึงขนาดมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการทำงานของอัยการฯ เสียใหม่ ไม่ต่างจากกระบวนการยุติธรรมในหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจ เป็นต้น
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปกติ เห็นได้ชัดก็คือ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดอัยการสูงสุดคนก่อนอย่างกระทันหัน ทั้งที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการอัยการได้ไม่นาน
ดังนั้น หากพิจารณาในความหมาย “ง่อนแง่น” ตามที่ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้ระบุถึงอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน มันก็เป็นไปได้เหมือนกันหากพิจารณาจากความหมายในเรื่อง “สถานะ” แต่นอกเหนือจากนั้นก็คือ ความรู้สึกของสังคมที่กลับมาไม่ไว้วางใจมากขึ้น และจะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิรูปสำนักงานอัยการสูงสุดทันที ไม่ต่างจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างแน่นอน !!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น