วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

โลกระทึก! ลุ้นประชามติแยกตัว UK ของสกอตแลนด์วันนี้ หวังผลโหวต 'โน'

        
      
       รอยเตอร์ - โลกกำลังกลั้นหายใจจับตาอย่างไม่กะพริบต่อผลการลงประชามติตัดสินอนาคตของสกอต์แลนด์ในวันพฤหัสบดี (18 ก.ย.) ด้วยส่วนใหญ่แล้วหวังเห็น “โหวตโน” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรต่อไป ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไร้เสถียรภาพ ทว่าโพลล่าสุดไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงวันชี้ชะตา บ่งชี้ว่าสองฝ่ายมีคะแนนคู่คู่สูสียิ่งขึ้น
      
       ผลสำรวจความคิดเห็นของอิปซอส เอ็มโออาร์ไอ ที่เผยแพร่ออกมาไม่กี่ชั่วโมงก่อนเปิดหีบลงประชามติ พบว่าคะแนนเสียงที่สนับสนุนสกอตแลนด์เป็นเอกราชเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 49 ไล่จี้ร้อยละ 51 ของฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป แค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
      
       อิปซอส เอ็มโออาร์ไอ ระบุผลสำรวจล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเสียงสนับสนุนแยกตัวเป็นเอกราชเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 จากการสำรวจคราวก่อนเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม สวนทางกับเสียงสนับสนุนของฝ่ายต้องการให้สกอตแลนด์ยังคงเป็นหนึ่งเดียวกับสหราชอาณาจักร ที่ลดลงในจำนวนที่เท่ากัน แม้ว่าในด้านของมุมมองจากต่างชาติแล้ว ส่วนใหญ่ประสงค์เห็นสกอตแลนด์อยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป
      
       ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลเกี่ยวกับผลประโยชน์ของตนเองหรือทางภูมิรัฐศาสตร์ เหล่าชาติมหาอำนาจไล่ตั้งแต่ปักกิ่ง วอชิงตัน มอสโก ไปจนถึงนิวเดลี ต่างก็ภาวนาอย่างเงียบๆให้สหราชอาณาจักรยังคงเดิมและไม่มีการแยกตัวออกมาตั้งรัฐใหม่ในช่วงเวลาที่โลกกำลังไร้เสถียรภาพเช่นนี้
      
       ในหมู่ชาติพันธมิตรสหภาพยุโรปของลอนดอน เยอรมนีเผยตัวอย่างชัดเจนว่าประสงค์เห็นสหราชอาณาจักรยังคงเดิม ส่วนประเทศอื่นๆ อย่าง สเปน เบลเยียม และอิตาลี ต่างก็หวังว่าชาวสกอตแลนด์จะไม่โหวตสร้างหรือซ้ำเติมปัญหาต่างๆ แก่ความปรองดองสมานฉันท์ภายในชาติของตนเอง
      
       แม้กระทั่งรัสเซียและจีน ที่ทะเลาะเบาะแว้งกับสหราชอาณาจักรบ่อยครั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ก็มีเหตุผลภายในอย่างหนักแน่นที่ไม่ประสงค์เห็นความกระอักกระอ่วนของชาติเก่าแก่แห่งนี้
โลกระทึก! ลุ้นประชามติแยกตัว UK ของสกอตแลนด์วันนี้ หวังผลโหวต 'โน'
        แน่นอนว่าทั่วโลกไม่ได้มีแค่ชาวสกอตแลนด์เท่านั้นที่ต้องการอำนาจอธิปไตยด้วยการแยกประเทศ ไล่ตั้งแต่คาตาลันในสเปน และแคชเมียร์ในอินเดีย รวมถึงชาวเคิร์ดทั้งในตุรกี อิรักและอิหร่าน คนจำนวนมากก็ใฝ่ฝันสิทธิในการเลือกรูปแบบการปกครองของตนเองเช่นกัน
      
       รัฐบาลแคว้นคาตาลันในบาร์เซโลนา เคยเรียกร้องขอให้มีการจัดหยั่งเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชออกจากสเปน ในวันที่ 9 พฤศจิกายน แต่นายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย ในวันพุธ (17 ก.ย.) เตือนว่าการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นสกอตแลนด์ รวมถึงความพยายามในการเรียกร้องเอกราชของคาตาโลเนียในสเปน จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อ “เอกภาพของยุโรป”
      
       สหรัฐฯ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนตามคำพูดของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่าต้องการเห็นสหราชอาณาจักรยังคงเป็นคู่หูที่เข้มแข็ง เป็นปึกแผ่นและมีประสิทธิผล แม้จะบอกว่ามันเป็นการติดสินใจของชาวสกอตแลนด์ก็ตาม
      
       ลอนดอนเป็นคู่หูที่ภักดีที่สุดของวอชิงตัน ทั้งในพันธมิตรนาโต้ รวมถึงปฏิบัติการรุกรานทางทหารในตะวันออกกลางและที่อื่นๆ แม้ว่าความเคลื่อนไหวของพวกเขาเมื่อปีที่แล้วจะก่อให้เกิดคำถาม จากกรณีที่รัฐสภาสหราชอาณาจักรโหวตคัดค้านข้อเสนอปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อซีเรีย
      
       เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อปัญหายุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินความสัมพันธ์กับสกอตแลนด์ที่แยกตัวเป็นเอกราช ด้วยแคว้นแห่งนี้เป็นฐานต่อเรือบรรทุกเครื่องบินและเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แห่งเดียวของสหราชอาณาจักร ขณะที่เหล่าผู้แทนทูตของอเมริกาเกรงว่าการแตกสลายของสหราชอาณาจักรอาจทำให้เศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายอ่อนแอลง และมีความเป็นไปได้ว่าสหราชอาณาจักรอาจจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู ซึ่งจะส่งผลให้อิทธิพลของวอชิงตันภายในกลุ่มสกุลเงินเดียวนี้ถดถอยลงไปด้วย
      
       นอกเหนือจากชาติตะวันตกแล้ว ก็พบความประหลาดใจอยู่บ้างที่บางประเทศอยากเห็นสหราชอาณาจักรแตกเป็นเสี่ยง อย่างไรก็ตามด้วยการแยกตัวและความเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชเป็นประเด็นที่อ่อนไหวเกินไปในรัสเซีย ดังนั้นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินและนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ จึงวางตัวตามกรอบมาตรฐาน ด้วยชี้ว่าอนาคตของสกอตแลนด์เป็นเรื่องกิจการภายในของสหราชอาณาจักร
      
       ด้าน จีน ซึ่งไม่ยอมให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงกิจการภายในต่อประเด็นทิเบตและในเรื่องความสัมพันธ์กับไต้หวัน จับตาศึกดีเบตแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ด้วยความเป็นกังวล ทั้งนี้ในขณะที่ไม่มีการแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการออกมาจากรัฐบาลปักกิ่ง บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์แห่งรัฐ ระบุช่วงต้นสัปดาห์ว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มันเป็นสถานการณ์กอดคอกันแพ้ของทั้งสองฝ่าย” 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น