วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

"วีระ" ฝากบอก "ประยุทธ์" จะแก้คอร์รัปชั่นต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จอย่างผู้นำจีน!



วีระ สมความคิด



เมื่อเวลา 10.00 น. นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น อภิปรายในหัวข้อ ปฏิรูปประเทศไทยด้วยการต่อต้านการทุจริต เรื่อง การปราบปรามการทุจริต ว่า จากประสบการณ์การทำงานภาคประชาชนยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง คนส่วนใจเข้าใจว่าจะสามารถปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากโลกได้ ไม่มีใครทำได้แต่ทำให้น้อยลงจนไม่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้ แบบอย่างเป็นเรื่องสำคัญ ถ้านายกฯไม่ทุจริต รัฐมนตรีก็ไม่กล้าทุจริต ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้อำนวยการกองก็ไม่กล้าทุจริต ตราบใดถ้านายกฯทุจริต คนในสังคมก็ต้องทุจริต เราไม่เคยพบว่านายกของไทยไม่ทุจริต เราต้องยอมรับความจริงอย่าโกหก ทุกรัฐบาลมีนโยบายการปราบปรามการทุจริตเป็นนโยบายสำคัญเวลาแถลงนโยบาย แต่ทำไมทุกรัฐบาลมีข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริต
    
“รัฐบาลไม่เคยเป็นเจ้าภาพการจัดงานไม่ส่งเสริมการปราบปรามคอร์รัปชั่น มีแต่ภาคเอกชนที่จัดงาน หน่วยงานราชการก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เราพยายามแก้ไขและปราบปรามการสถาบันพระปกเกล้า แต่คนทีมีอำนาจไม่สนองตอบ ต่อให้เพิ่มงบให้ ป.ป.ช. มากเท่าไหร่ก็ไม่เห็นว่าคอร์รัปชั่นลดน้อยลง ตราบใดที่ผู้บริหารประเทศคอร์รัปชั่นเสียเอง การปราบปรามก็ไม่สำเร็จ ประเทศที่การทุจริตน้อยลงในวงจำกัดเพราะรัฐบาลเอาจริงเอาจังทำเป็นตัวอย่าง ประเทศจีนเป็นคอมมิวนิสต์ เผด็จการแต่ก้าวหน้ากว่าประเทศประชาธิปไตยเพราะมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง รัฐบาลที่ผ่านมาคุณยิ่งลักษณ์มีความโปร่งใสมากใช่ไหม จึงต้องเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ การรัฐประหารทุกครั้งมีข้ออ้างสำคัญเรื่องรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นจึงต้องเข้ามาแก้ปัญหา ถ้าเป็นอย่างนี้ เรามารณรงค์แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไร ในทางปฏิบัติจริงไม่มีทางประสบความสำเร็จ ถ้าคนที่มีอำนาจไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่เป็นต้นแบบและเป็นผู้ปฏิบัติที่จะให้คนในสังคมเห็นว่าต้องการให้ประเทศพ้นจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
    
“เติ้ง เสี่ยวผิงมีวาทะว่า อย่าตอบแทนบุญคุณส่วนตนด้วยผลประโยชน์ของชาติ แต่ประเทศไทยในความคิดของนักการเมืองบางคนคือต้องตอบแทนประเทศชาติด้วยการกอบโกยเพื่อความสุขส่วนตัว ที่กล้าคอร์รัปชั่นเพราะผลตอบแทนความเสี่ยงคุ้มค่า ถ้าจะแก้ไขปราบปรามจะต้องทำให้ผลตอบแทนความเสี่ยงนี้ไม่คุ้มค่า ทุกวันนี้การคอร์รัปชั่นคุ้มกว่าการขายยาเสพติดไม่รู้กี่เท่า ไม่ต้องเสี่ยง สามารถแก้กฎหมายออกกฎหมายเตรียมการทุจริต ถูกจับได้ก็เอาผิดไม่ได้ ผลตอบแทนความเสี่ยงคุ้มค่าเป็นแสนเท่า เพราะแต่ละโครงการมูลค่าเป็นแสนเป็นล้าน ทุกวันนี้ถูกจับได้ก็สามารถซื้อกระบวนการยุติธรรมได้หมด” นายวีระกล่าวและว่า เมื่อวานฟังพล.อ.ประยุทธ์พูดในรายการคืนความสุขได้ยินว่าตอนนี้คสช.มีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น คิดว่าน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ได้ฟังอย่างนี้มาทุกรัฐบาล อยากฝาก คสช.เอาไว้ในคำพูดของลอร์ดแอคตันว่า อำนาจนำมาซึ่งการคอร์รัปชั่น อำนาจที่เบ็ดเสร็จยิ่งทำให้คอร์รัปชั่นได้อย่างไม่จำกัด อยากฝากพล.อ.ประยุทธ์ว่า ถ้าจะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จอย่างผู้นำจีน พล.อ.ประยุทธ์ต้องเอาตนเองเป็นต้นแบบ ไม่เช่นนั้นหาวิธีแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นไปอีกกี่ปีก็ไม่สำเร็จ
    
“เรื่องการตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานราชการเป็นเรื่องยาก เพราะมีพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้เปิดเผยข้อมูลแต่ล้มเหลวไปแล้ว จะไปขอทราบก็ยาก หน่วยงานของผม 90 เปอร์เซ็นต์รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการ ที่เขาไม่ไปยื่น ป.ป.ช. เพราะต้องเปิดเผยตัว ผมยื่นเรื่องร้องเรียนป.ป.ช. 14 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ตรวจสอบผู้การกองปราบท่านหนึ่งกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการไม่รับคำร้องทุกข์กรณีคุณทักษิณซื้อที่ดินรัชดา ป.ป.ช. กับ กองปราบ โยนไปมาบอกไม่ใช่อำนาจตัวเอง จนต้องเกิด คตส. ป.ป.ช.เพิ่งมีหนังสือให้ไปให้ถ้อยคำว่าผมร้องเรียนเรื่องนี้จริงหรือไม่เมื่อเร็วๆนี้เอง” นายวีระกล่าว

ต่อมาเวลา 10.30 น. พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ ประธานอนุกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม อภิปราย เรื่องการเสริมสร้างสังคมคุณธรรม ว่า ประเทศไทยให้ความเห็นชอบอนุสัญญาป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่นเป็นประเทศแรกๆ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ทำ เราต้องแก้กฎหมายว่า ในกรณีของการให้และรับสินบนถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศต้องดำเนินคดีไม่มีที่สิ้นสุด ปีนี้สหประชาชาติส่งสองประเทศมาตรวจสอบประเทศไทยว่าแก้กฎหมายหรือยัง เราพูดถึงการส่งเสริมคนดีให้เข้ามาสู่การปกครอง พล.อ.เปรมเป็นตัวอย่างที่ดี เราหานักการเมืองเป็นตัวอย่างที่ดีได้ไหม คนดีเป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์สูง รู้ผิดชอบชั่วดี มีคุณธรรมจริยธรรม
    
“กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่มีการคุ้มครองพยาน แต่ต้องปฏิรูปกระบวนการคุ้มครองพยาน ปรากฏว่าทุกคนไม่ไว้วางใจตำรวจ ก็ต้องปฏิรูปตำรวจเหมือนกันว่าทำไมประชาชนไม่ไว้ใจ สิ่งที่ควรทำที่สุดในขณะนี้คือ การควบคุมการใช้เงิน คนมีเงินต้องโปร่งใสในการอธิบายว่าได้เงินมาจากไหน ต่อจากนี้ทุกคนต้องยื่นภาษีเงินได้ใช้เอกสารประกอบ ถ้ามีการใช้เงินซื้อสังหาริมทรัพย์เกินห้าแสนบาท อสังหาริมทรัพย์เกินหนึ่งบ้านบาทจะต้องแจ้ง ต่อไปจะบังคับประชาชนทุกคน ขณะนี้บางคนซื้อรถสามสิบล้านแต่ไม่มีที่มาของเงิน ถ้าทำได้เงินผิดกฎหมายทุกชนิดจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ผมไม่แน่ใจว่าทำไมบางคนกลัวการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ภาคประชาชนต้องตรวจสอบมากขึ้น ผมเห็นแต่สำนักข่าวอิสราที่ตามอยู่” พล.อ.อ.วีรวิทกล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น