วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557
คสช.ผวาเงื่อนไขป่วน ปฏิรูปพลังงาน-นิรโทษกรรมแม้ว รีบเคลียร์ตัดเกม!!
แม้ว่ายังกวาดตาดูไม่ทั่วว่ามีสื่อไหนบ้างที่นำเสนอข่าวในทำนองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังหาจังหวะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่มีความผิดทางการเมือง ในจำนวนนั้นอาจมี “ทักษิณ ชินวัตร” รวมอยู่ด้วย โดยใช้วิธีสำรวจความคิดเห็นจากชาวบ้านก่อน เพื่อเป็นใบเบิกทาง ตามข่าวยังบอกว่ามีการให้สัมภาษณ์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองหัวหน้าฝ่ายกฎหมายฯ ของ คสช.เสียด้วย แต่เท่าที่เห็นก็คือการออกมายืนยันหนักแน่นของเขาในวันถัดมาว่าไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด ที่ย้ำชัดก็คือไม่มีเรื่องการนิรโทษกรรม ทักษิณ ชินวัตร พร้อมทั้งอ้างคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ที่ย้ำหลักการให้ไปต่อสู้กันตามกระบวนยุติธรรมตามขั้นตอน โดยที่ไม่มีใครไปแทรกแซงชี้นำได้
น่าสังเกตก็คือ ในการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ดังกล่าวมีลักษณะอารมณ์หงุดหงิดเจือปนอยู่บ้าง จากการไปอ้างคำพูดของเขาถึงท่าทีการออกกฎหมายนิรโทษฯจนมีการตีความในลักษณะ “ยกเข่ง” ตามมานั่นแหละ
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ทำให้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดก็คือ มีการอ้างคำพูดของ ทักษิณ ชินวัตร ออกมาทางสื่อแบบจงใจทำนองว่า “ให้คนในพรรคเพื่อไทยรวมทั้งมวลชนคนเสื้อแดงอย่าได้ขัดขวาง คสช.ปล่อยให้บริหารบ้านเมืองให้เต็มที่” ขณะเดียวกันยังตบท้ายว่า “หากให้อภัยหรือยอมความกันได้ก็เป็นเรื่องดี” คำพูดแบบนี้แหละที่ทำให้มีการตีความหมายกันไปว่า เขาต้องการให้มีการนิรโทษกรรม ซึ่งก็ถือว่าเป็นความต้องการเดิมที่มีความพยายามมาตลอด เพียงแต่ว่าทำไม่สำเร็จ ล่าสุดในยุครัฐบาลน้องสาวตัวเอง คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “เกือบสำเร็จ” แต่เกิดรายการป่วน มีการลุกฮือต่อต้านจนพังเสียก่อนและมี คสช.เกิดขึ้นมาในวันนี้
สรุปก็คือ เรื่องออกกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นประเด็นอ่อนไหว ที่เสี่ยงต่ออนาคตของทุกคนหากพยายามเข้ามาเกี่ยวข้อง!!
ขณะเดียวกัน อีกเรื่องหนึ่งที่เวลานี้กลายเป็นเรื่องอ่อนไหวไม่แพ้กัน และเริ่มเป็น “กระแสหลัก” ขึ้นทุกวันโดยเฉพาะเป้าหมายกำลังมุ่งไปที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนกลุ่มทุนพลังงานกำลังฮุบทรัพยากรของชาติ รวมทั้งสาธารณะสมบัติ ซึ่งกำลังถูกภาคประชาชนต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องการแยกกิจการท่อก๊าซมาแยกตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยภาคประชาชนเห็นว่าไม่เป็นธรรม เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มทุนฮุบสมบัติของชาติ อีกทั้งเป็นการผิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ต้องคืนกระทรวงการคลัง แต่ที่ผ่านมามีการระบุว่ายังคืนไม่ครบ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานก็ได้อนุมัติให้ ปตท.แยกกิจการท่อก๊าซไปตั้งเป็นบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 58
ต่อมามีการแถลงชี้แจงจากโฆษก คสช. พ.อ.วินธัย สุวารี ว่า คสช.ถูกบิดเบือนใส่ร้าย พร้อมยืนยันว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปพลังงานในทุกด้านเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพียงแต่ว่าการอนุมัติให้ ปตท.แยกกิจการท่อก๊าฐมาตั้งเป็นบริษัทใหม่นั้น เป็นการดำเนินการชั่วคราว และต่อไปในอนาคตจะต้องเป็นของรัฐ ให้กระทรวงการคลังเริ่มเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 25 ก่อนซึ่งในเบื้องต้นเป็นการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบกับบรรยากาศการลงทุน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วในคำแถลงดังกล่าวจะไม่สามารถเป็นหลักประกันอะไรได้ เพราะดูแล้วยังเลื่อนลอย ไม่ได้กำหนดเวลาให้ชัดเจน แต่ที่ชัดเจนแล้วก็คือให้ ปตท.ไปจัดตั้งบริษัทดังกล่าวให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายนปี 58 เท่านั้น
อีกประเด็นหนึ่งที่ถือว่าชัดเจนเช่นเดียวกันนั่นคือ “การตื่นตัว” ของ คสช.เริ่มรับรู้ถึงความอ่อนไหวในเรื่องพลังงาน ไม่เช่นนั้นไม่รีบชี้แจงยืนยันกันแบบนี้ หรือแม้กระทั่งส่งนายทหารเข้าไปเตือน “วีระ สมความคิด” ถึงสถานที่แถลงข่าวเรื่องการคัดค้านการให้ ปตท.ตั้งบริษัทท่อส่งก๊าซดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา นั่นแสดงว่าพวกเขาได้รับรู้ถึงความอ่อนไหว
ดังนั้น หากให้สรุปรวมๆก็ต้องบอกว่าทั้งสองเรื่อง คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ทักษิณ ชินวัตร เป็นประเด็นอ่อนไหวถาวรไปแล้วก็คงพูดแบบนั้นได้ และล่าสุดยังพ่วงเอาเรื่องการปฏิรูปพลังงานกลายมาเป็น “ประเด็นร้อน” เพิ่มเติมเข้ามาอีก ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องรีบเคลียร์ตัดเกมเอาไว้ก่อน เพราะเริ่มรู้แล้วว่านี่คือเงื่อนไขป่วน พาพังได้เหมือนกัน!!
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น