พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ |
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา |
พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ |
เพราะโผที่ปรากฏออกมานั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มากบารมีในทางการทหารของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือพี่ป้อมของมวลหมู่น้องๆ “บูรพาพยัคฆ์” ได้เป็นอย่างดี
กระนั้นก็ดี เหล่าทัพที่ถูกกจับตามองเป็นพิเศษก็เห็นจะหนีไม่พ้น “กองทัพบก” เนื่องเพราะมีความเกี่ยวโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กำลังเตรียมตัวก้าวขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย
กล่าวสำหรับกองทัพบกในตำแหน่งหลักที่เรียกขานกันว่า “5 เสือ ทบ.” โผล่าสุดที่คลอดออกมาและปรากฏตามสื่อต่างๆ ตรงกันนั้น เต็ง 1 และเต็งหาม เก้าอี้ ผบ.ทบ.ที่มาแรงตั้งแต่ต้นจนถึงวินาทีนี้ก็คือ “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) รองผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นเลขาธิการ คสช.และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(คปต.) ส่วน “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา( ตท.15) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช.ที่เป็นคู่แข่งกันมาชนิดลมหายใจรดต้นคอจะขยับขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกในอัตราจอมพล
นั่นหมายความว่า โอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพบกของ พล.อ.ไพบูลย์หมดลงไปด้วย เพราะทั้ง พล.อ.อุดมเดชและพล.อ.ไพบูลย์เกษียณอายุราชการในปีเดียวกันคือปี 2558
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ การก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ของ พล.อ.อุดมเดชนั้น มีนัยพิเศษอะไรหรือไม่ อย่างไร
แน่นอน ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.อุดมเดชคือบูรพาพยัคฆ์ และเป็นบูรพาพยัคฆ์คนที่ 4 ที่ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบก
และถ้าจะนับความต่อเนื่องก็ต้องบอกว่า เป็นการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ ผบ.ทบ.ที่ติดต่อกันถึง 3 คนเลยทีเดียว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณหรือ “บิ๊กป้อม” คือบูรพาพยัคฆ์คนแรกที่เป็น ผบ.ทบ โดยก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 34 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 และเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2548 จากนั้นเก้าอี้ตัวนี้ก็เว้นวรรคตกเป็นของ “บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน”
ถัดจาก พล.อ.สนธิ ก็มาถึงยุคของ “บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ซึ่งเป็นบูรพาพยัคฆ์คนที่ 2 ที่ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 36 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 และเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2553
เป็น พล.อ.อนุพงษ์ที่มีความสนิทสนมกลมเกลียวกับ พล.อ.ประวิตรชนิดที่ไม่ต้องสาธยายความกันมากมาย
หลัง พล.อ.อนุพงษ์เกษียณอายุราชการ บูรพาพยัคฆ์คนที่ 3 คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ก้าวขึ้นรับไม้ต่อเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 37 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ถือเป็นสองศรีพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ที่มีความสนิทชิดเชื้อกันเป็นอันมาก ด้วยความเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาตลอดใน ร.21 รอ.โดย พล.อ.ประยุทธ์ นับถือ พล.อ.อนุพงษ์ เสมือนพี่และอาจารย์คนหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่มีต่อบิ๊กป้อมซึ่งเป็นบูรพาพยัคฆ์ผู้พี่ กลายเป็น “3พี่น้อง 3 ป.” คือ ป.ป้อม ป.ป๊อกและ ป.ประยุทธ์ ที่เคารพนับถือกันดุจญาติพี่น้อง ซึ่งหลังการทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตรก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษา คสช. ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา คสช.พร้อมกัน
และถ้าไม่มีการพลิกโผอะไร ซึ่งในความเป็นจริงโอกาสที่จะพลิกโผก็เป็นไปได้ยากยิ่ง บูรพาพยัคฆ์คนที่ 4 คือ “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตรก็จะเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 38 ต่อไป
แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือ “บารมี” อันยิ่งใหญ่ของบูรพาพยัคฆ์ผู้พี่ที่ชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ซึ่งสามารถวางสายอำนาจของทหารเสือแห่งบูรพาเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องกระทั่ง “วงศ์เทวัญ” ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเดิมไม่สามารถเบียดแทรกขึ้นมาได้
ส่วนอีก 3 เสือ ทบ.ที่เหลือ นายทหารที่ได้รับการคาดหมายว่าจะขยับมาเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ.นั้น คาดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเสนอชื่อ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช(ตท.14) แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ส่วนเก้าอี้ เสธ.ทบ.ที่ถือว่าเป็นมือไม้ในการทำงานให้กับ ผบ.ทบ.คนใหม่นั้น ตกเป็นของ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์(ตท.14) รอง เสธ.ทบ คนปัจจุบันก่อนเกษียณอายุราชการในปีหน้า
และที่ต้องขีดเส้นใต้เป็นกรณีพิเศษสำหรับเสือตัวสุดท้ายเห็นจะหนีไม่พ้นชื่อของ “พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา”(ตท.15) น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 3 มานั่งในเก้าอี้ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และนั่นหมายความว่า พล.ท.ปรีชามีโอกาสที่จะลุ้นเก้าอี้ “ผู้บัญชาการทหารบก” หลังการเกษียณอายุราชการของ พล.อ.อุดมเดชในปี 2558 ทันที
แน่นอน ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า พล.ท.ปรีชาจะเป็นจันทร์โอชาคนที่ 2 ที่เป็น ผบ.ทบ.ได้หรือไม่ เพราะนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ในประวัติศาสตร์ของกองทัพไทย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะดำเนินไปเช่นนั้น เนื่องจากถ้าจะว่าไปแล้ว พล.ท.ปรีชาก็เป็นนายทหารที่เก่ง มีความรู้และเป็นที่ยอมรับของทหารในกองทัพบกไม่แพ้ พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน
ขณะที่ บิ๊กนมชง-พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ(ตท.12) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก นายทหารคนสุดท้ายของ ตท.12 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการจะขยับขึ้นไปเป็นประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษ ทบ.อัตราจอมพลก่อนเกษียณ เช่นเดียวกับ “บิ๊กโบ้” พล.อ.อักษรา เกิดผล (ตท.14) เสนาธิการทหารบก ถูกโยกพ้นจากกองทัพบกไปเป็นกินตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดในอัตราจอมพลเพื่อรอเกษียณอายุราชการในปี 2558 เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังมีการคาดหมายว่า พล.ท.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข รอง เสธ.ทบ.จะถูกย้ายข้ามฟากไปเป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม อัตราพลเอก
สำหรับตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งหนึ่ง และถ้าจะว่าไปแล้วก็มีความสำคัญไม่แพ้ตำแหน่งอื่นๆ เช่นกัน นั่นก็คือ “ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่1” เพราะนอกจากจะเป็นผู้คุมกำลังทหารหลักในเมืองหลวง ซึ่งเป็นกำลังหลักในการทำ “รัฐประหาร” แทบทุกครั้งแล้ว โดยประวัติศาสตร์ของกองทัพบกนั้น ผู้ที่นั่งเก้าอี้ตัวนี้ส่วนใหญ่สุดท้ายจะก้าวขึ้นสู้ตำแหน่ง “แม่ทัพบก” แทบจะทุกคนไป
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะรั้งตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ก็คือ “บิ๊กโชย” พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วย เสธ.ทบ.ฝ่ายยุทธการ(ตท.16) หัวหน้าคณะปรองดองของ คสช. ผู้เป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ และจะเกษียณอายุราชการในปี 2559
เมื่อบิ๊กโชยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ก็จะทำให้ พล.ต.พงษ์เทพ ทิพยจันทร์(ตท.18) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นคู่แข่งขันต้องขยับไปเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 ขณะที่ พล.ต.ปราการ ชลยุทธ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 จะก้าวขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 แทนพล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา
นอกจากนั้น จากการปรับโครงสร้างกระทรวงกลาโหมในการแต่งตั้งโยกย้าย ได้มีการขยายอัตรา รอง เสธ.ทบ.เป็น 4 อัตรา โดยมีผู้ที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งประกอบด้วย พล.ท.สุชาติ หนองบัว(ตท.14) ผู้ช่วย เสธ.ทบ.ฝ่ายกำลังพลพล.ท.กิตติ อินทรสาร(ตท.14) ผู้ช่วย เสธ.ทบ.ฝ่ายข่าว พล.ท.ศุภกร สงวนชาติสรไกร(ตท.15) ผู้ช่วย เสธ.ทบ.ฝ่ายส่งกำลังบำรุงและ พล.ท.ภาณุวัชร นาควงษม์(ตท.17) ผู้ช่วย เสธ.ทบ.ฝ่ายกิจการพลเรือน
สำหรับกองทัพเรือ “บิ๊กเข้” พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) ตัดสินใจเสนอชื่อเพื่อนร่วมรุ่น ตท.13 คนสุดท้ายคือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้ช่วย ผบ.ทร. ขึ้นเป็น ผบ.ทร.เบียด พล.ร.อ.พิจารณ์ ธีรเนตร(ตท.14) ผบ.กองเรือยุทธการ ซึ่งจะขยับมากินอัตราจอมพลเรือในตำแหน่ง รอง ผบ.ทร. พร้อมกับดันเพื่อน ตท.13 อีกคนคือ พล.ร.อ.ธนรัตน์ อุบล ประธานที่ปรึกษาพิเศษ ทร.ข้ามห้วยไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมก่อนเกษียณอายุราชการในปีหน้า ขณะที่ พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงษ์พิพัฒน์(ตท.14) เสธ.ทร.ถูกโยกไปเป็นรอง ผบ.สส. กินอัตราจอมพลเรือ พร้อมขยับพล.ร.อ.อภิชัย อมาตยกุล ที่ปรึกษาพิเศษ ทร.มาเป็น เสธ.ทร.แทน
ด้านกองทัพอากาศ “บิ๊กจิน” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ที่จะเกษียณอายุราชการและได้รับการคาดหมายว่าจะมีชื่อเป็นรัฐมนตรีนั้น ตามโผปรากฏว่า เก้าอี้ตัวนี้จะตกเป็นของ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง(ตท.14) จากตำแหน่งปัจจุบันคือ เสธ.ทอ. เนื่องจากมีอาวุโสสูงสุดในกองทัพอากาศ และจะเกษียณอายุราชการในปี 2559
โดยมี พล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธ์(ตท.15) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ ผบ.ทอ.ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทบ.อัตราจอมพลก่อนเกษียณ พล.อ.อ.วรฉัตร ธารีฉัตร(ตท.15) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ.เป็นประธานคณะที่ปรึกษา ทอ.อัตราจอมพลพล.อ.อ.พลเทพ โหมดสุวรรณ (ตท.15) ผบ.หน่วยบัญชาการควบคุมปฏิบัติการทางอากาศข้ามห้วยไปเป็น รอง ผบ.สส.อัตราจอมพล นอกจากนี้ยังขยับ พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ กฤษณคุปต์(ตท.16) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ.เป็น เสธ.ทอ.พล.อ.ท.จอม รุ่งสว่าง(ตท.16) รอง เสธ.ทอ.และ พล.อ.ท.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทอ.
ส่วนที่กองบัญชาการกองทัพไทยและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ตามโผคาดว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลือก พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร(ตท.12) รอง ผบ.สส.ขึ้นเป็น ผบ.สส. พร้อมกับขยับ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล(ตท.13) เสธ.ทหาร ข้ามห้วยไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมแทน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ก่อนที่ทั้งคู่จะเกษียณอายุราชการในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีกระแสข่าวด้วยว่า ในการปรับย้ายครั้งนี้ยังมีความเห็นต่างกันเล็กน้อยระหว่างเหล่าทัพ เนื่องจากกองทัพบกต้องการดัน พล.อ.ศิริชัยขึ้นเป็น ผบ.สส.ตามที่ตกลงกันไว้เมื่อครั้งที่มีการขยับ พล.อ.ศิริชัยออกจากกองทัพบกมาเป็น เสธ.ทหารและให้ พล.อ.วรพงษ์ไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม
แต่เก้าอี้สองตัวนี้จะไม่พลิกโผ เพียงแต่ใครจะนั่งตำแหน่งใดเท่านั้น เพราะทั้ง พล.อ.วรพงษ์ และ พล.อ.ศิริชัยล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตรทั้งสิ้น
นอกจากนั้นจะมีการโยก พล.อ.สมหมาย เกาฎีระ(ตท.15) ผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นรอง ผบ.สส.อัตราจอมพล พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์(ตท.15) รอง เสธ.ทหารเป็น เสธ.ทหารอัตราจอมพล และ พล.อ.วิเชียร ศิริสุนทร(ตท.15) ผอ.ศูนย์ประสานงานโครงการพระราชดำริฯ เป็นผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา แต่บางกระแสก็คาดว่าเก้าอี้ตัวนี้ตกเป็นของ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม พล.ท.สุรสิทธิ์ ถาวร เป็นผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ผบ.ศรภ.)พล.ต.ชัยชนะ นาคเกิด เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (ผบ.ศตก.)
เมื่อดูเส้นทางของการโยกย้ายของทหารครั้งนี้แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้ เห็นกันอีกครั้งว่า บารมีของ “พล.อ.ประวิตร”นั้นไม่ธรรมดาจริงๆ ไม่เช่นนั้นเนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 69 ปีของ พล.อ.ประวิตร นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพไทยคงไม่ตบเท้าเข้าไปอวยพรกันอย่างคับคั่ง ณ บ้านพักภายใน กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
ทั้งพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชาผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตรรองผู้บัญชาการทหารบก, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก , พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก
เรียกว่า 5 เสือ ทบ.ตบเท้ามากันอย่างพร้อมเพรียง
นอกจากนี้ ยังมีนายทหารคนสำคัญๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันเข้าร่วมอวยพรด้วย เช่น พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ สนช. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ สนช. ฯลฯ
ที่สำคัญคือ บารมีของ พล.อ.ประวิตรไม่ใช่มีเฉพาะแต่ทหารเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมไปทั่วทุกองคาพยพเลยก็ว่าได้ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า ณ เวลานี้ บารมีของ พล.อ.ประวิตรแผ่ไปถึงผ่านผู้เป็นน้องชาย-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และตัวเต็งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่คือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ก็ได้รับการสนับสนุนจาก “บิ๊กป้อมคอนเนกชั่น”
ขณะที่ในองค์กรสำคัญอื่นๆ ก็เป็นที่น่าจับตาไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สนช.) หรือสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่เพิ่งมีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา หลายต่อหลายคนก็เป็นบิ๊กป้อมคอนเนกชั่น
อย่างที่ สนช.ก็ประกอบด้วย พล.อ.นภดล อินปัญญา พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท พล.ท.ธีรชัย นาควานิช พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ พล.ท.วลิต โรจนภักดี รวมถึงน้องชายอีก 2 คนคือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณและ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ
ส่วน 77 คณะกรรมการสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติก็เป็นไปในท่วงทำนองเดียวกัน เช่น ด้านการเมืองนำโดยตัว พล.อ.ประวิตร ด้านการปกครองท้องถิ่นนำโดย พล.อ.อนุพงษ์ ด้านสื่อสารมวลชนนำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา ด้านอื่นๆ นำโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นต้น แต่ที่สังคมจับตาเป็นพิเศษก็คือ “ด้านพลังงาน” ที่มีการส่ง “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” เข้าไปเป็นหนึ่งในนั้น ก็เป็น “เซ็นคาเบรียลคอนเนกชัน” ของ พล.อ.ประวิตรเช่นกัน
นี่คือความเป็นผู้มากบารมีของ พล.อ.ประวิตรชนิดที่สามารถกล่าวได้ว่า น้อยคนนักที่จะสามารถทำได้ และเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรจะดำรงความเป็นผู้มากบารมีเช่นนี้ต่อเนื่องไปอีกหลายปีเลยทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น