วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พิสูจน์สนช.ส่องงบฯ 58 ปลดแอก “สภาเปลือกหอย”

  

ปฏิทินการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในรอบสัปดาห์นี้ ตั้งแต่จันทร์ที่ 18 สิงหาคม ยังไม่ชัดว่าจะเป็นอย่างไร จะเริ่มประชุมกันได้ในช่วงไหน
       เอาป็นว่า ที่ชัดเวลานี้ก็คือยังไงเสีย สนช.คงจะพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแน่นอน เนื่องจากตอนนี้ถือว่าปฏิทินการพิจารณา ร่าง พรบ.งบฯ เลยออกมาจากที่สำนักงบประมาณวางไว้เดิมร่วมสองสัปดาห์แล้ว
       
       ทำให้ทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) -สำนักงบประมาณ ตลอดจนความเห็นของสนช.แทบทั้งหมดก็เห็นพ้องตรงกันว่า ควรต้องพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ก่อนโหวตนายกฯ
       
       เมื่อเป็นดังนี้ การประชุมสนช.เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ก็จะมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. หรือผู้แทน กับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงหลักต่อที่ประชุม สนช.
       
       หาก บิ๊กตู่ มาประเดิมเล่นบทผู้นำชี้แจงการจัดทำงบฯ ต่อที่ประชุมสนช. คงเป็นภาพที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย กับการมายืนอ่าน “หลักการ-เหตุผล” และเม็ดเงินใน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ตรงบริเวณที่นั่ง ฝั่งรัฐมนตรีในห้องประชุมสนช. อันทรงเกียรติระหว่างการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อที่ประชุมสนช. ก่อนที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในอีกไม่กี่วันต่อจากนั้น
       
       แต่หลายคนเชื่อว่า บิ๊กตู่ ไม่น่าจะมายืนอ่าน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ต่อที่ประชุมสนช. ด้วยตัวเอง เพราะคงต้องสงวนเนื้อสงวนตัวเอาไว้จนกว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว จึงเป็นไปได้ไม่น้อยที่บทบาทนี้ คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผอ.สำนักงบประมาณ ที่เป็น สนช.ด้วย เล่นบทผู้ชี้แจงหลักไป
       
       แต่ก็คงส่งบิ๊กคสช. มาด้วย เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อที่ประชุมสนช. คนที่จะได้รับมอบหมายมาอาจเป็น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คสช. หรือไม่ก็อาจเป็น พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ที่น่าจะรู้เรื่องนี้ดีที่สุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายคสช. และเป็นคนดีลเรื่องระหว่างสนช. กับคสช. มาตลอด
       
       เว้นแต่ พลเอกประยุทธ์ อาจจะคึกมาสร้างเซอร์ไพรส์ มาชี้แจงร่างนี้ต่อที่ประชุมสนช.ด้วยตัวเองก็เป็นได้ เพราะไหนๆ ก็จะไปเป็นนายกฯ ที่ต้องเป็นรัฐบาล ซึ่งต้องใช้งบประมาณก้อนดังกล่าวบริหารประเทศ ดังนั้นจะมาชี้แจงหลักการเหตุผล ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้สนช.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่สมควรทำมากกว่าจะให้แค่ระดับ ผอ.สำนักงบประมาณ เป็นโต้โผหลัก
       
       อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ์ จะมาชี้แจง ร่าง พ.ร.บ.งบฯ เองหรือไม่ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญมาก
       

       เรื่องสำคัญก็คือ ท่าทีของสนช.แต่ละคนมากกว่าว่าจะทำหน้าที่สนช.อย่างไร จะเป็น “สภาเปลือกหอย” ที่ทำคลอดนายกฯ และคอยเป็นมือเป็นไม้คุ้มกันดูแลรัฐบาลคสช. อย่างที่หลายคนวิจารณ์ หรือจะกล้าทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลคสช. อย่างที่รธน. ชั่วคราวปี 57 ให้อำนาจไว้ ก็ให้เริ่มดูจากการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ของสนช.เป็นลำดับแรกก่อนเลย
       
       จริงอยู่ว่า กรอบเม็ดเงินงบประมาณใน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 หลักๆ สำนักงบประมาณ เป็นผู้ดำเนินการ คสช. ไม่ได้มารับรู้ตั้งแต่ต้นและคงไม่รู้ละเอียดไปทุกโครงการ เพราะหลายโครงการที่อยู่ในกระทรวงต่างๆ ว่ากันตามจริงแล้ว มีการตั้งเรื่องไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเพื่อไทยแล้ว
       
       เพราะก่อนหน้าคสช. ทำรัฐประหารในช่วง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจียนอยู่เจียนไป ก็มีข่าวว่านักการเมืองเพื่อไทย-อดีต ส.ส. ก็มีการขอให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงตั้งงบทำโครงการเอาไปลงพื้นที่เลือกตั้งของตัวเองไว้ล่วงหน้าแล้ว
       
       เรื่องแบบนี้ ต่อให้ คสช.ไปได้ยินมา แต่คงไม่มีทางไปรู้ได้ทุกโครงการ
       
       ก็เป็นหน้าที่ของสนช. แต่ละคนแล้วว่า ได้มีการทำการบ้านมาดีแค่ไหน มีการไปหาข้อมูลเชิงลึกอะไรมาหรือยัง เผื่อว่าเมื่อมีการตั้งข้อสังเกตุอภิปรายในที่ประชุมสนช. ทางสำนักงบประมาณ-คสช. และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ก็จะได้ใช้ข้อมูลนี้ไปจับตามองเป็นพิเศษในลำดับต่อไป โดยเฉพาะในชั้นกรรมาธิการฯ เพื่อที่กรรมาธิการจะได้ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นกรรมาธิการ
       จึงไม่รู้ว่าจะพึ่งพา สนช.ชุดนี้ได้แค่ไหน เพราะสนช.ทั้งหมดก็ได้ตำแหน่งกันก็เพราะ บิ๊กตู่ เป็นคนผลักดันตั้งให้มาเป็น สนช. แล้วมีหรือ สนช.จะกล้าหือ มาอภิปรายร่างกฎหมายสำคัญของคสช. ให้หน้าชากลางที่ประชุม
       
       ยิ่งก็เห็นๆ กันอยู่ สนช. หลายสิบคนก็ยังเป็นข้าราชการอยู่ ยิ่งส่วนใหญ่เป็นทหารทั้งที่เกษียณแล้ว-รอเกษียณ 30ก.ย. และอีกจำนวนมากที่ยังไม่เกษียณ และกำลังรอเติบโตในกองทัพ ดังนั้น ความยำเกรงความเกรงอกเกรงใจ ที่มีต่อ คสช. จนไม่กล้าอภิปรายในเชิงเสนอแนะท้วงติง เช่นเดียวกับข้าราชการอีกหลายหน่วยงานที่นั่งเป็นสนช. ก็คงไม่กล้าเช่นกัน
       
       ปัจจัยข้างต้น จึงมีการปรามาสไปแล้วว่า การอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ของ สนช.รอบนี้ ทำท่าอาจเป็นเวทีชื่นชม-ให้กำลังใจคสช. เสียมากกว่า โดยเฉพาะที่น่าจะฟันธงแล้วไม่มีพลาดก็คือ คงไม่มี สนช.คนไหนกล้าอภิปรายแตะต้อง “งบกระทรวงกลาโหม” แน่นอน
       
       อย่างไรก็ตาม สนช. ชุดนี้ จะเจออะไรแปลกๆ พิลึกพิลั่น มีอะไรผิดปกติหรือไม่ ใน ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ตลอดช่วงการพิจารณาของ สนช. ตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระที่สามหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือและความตั้งใจจริงในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น