วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เปิดเผยทรัพย์สิน สนช.-คสช.รัฐบาล สำนึกเบื้องต้น ไม่ต้องร้องขอ !!





   กลายเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเกิดขึ้นจนได้ สำหรับ สมาชิกสภานิติบัญญัติบางคนบางกลุ่มที่ทำท่ายึกยักไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) โดยอ้างว่ากฎหมายไม่ได้บังคับเอาไว้ หรือบางคนอ้างว่าไม่รู้ตัวมาก่อนว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.ทำให้ตั้งตัวไม่ทัน โดยเฉพาะการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ในรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัมปทานกับรัฐทำให้มีการโอนหุ้นไม่ทัน หรือบางคนไปไกลยิ่งกว่านั้นก็คือเวลานี้เป็นสถานการณ์พิเศษและเข้ามาทำหน้าที่แบบเฉพาะกิจไม่นานจึงน่าจะยกเว้นไปก่อน อ้างกันสารพัด 
       
       แต่ความหมายก็คือ ไม่อยากจะเปิดเผยทรัพย์สินให้สังคมได้รับรู้นั่นแหละ !!
       
       ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ยังยืนยันในทำนองว่า ต้องยื่นแสดงรายการทรัพย์สิน โดย เลขาฯปปช.สรรเสริญ พลเจียก กล่าวว่าหากเทียบเคียงตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ระบุให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ได้แก่ ส.ส. ส.ว. และ ครม. แต่ สนช. เป็นตำแหน่งกรณีพิเศษที่ทำหน้าที่เหมือน ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุว่าต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน คงต้องมีการนำมาเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 ซึ่งขณะนั้นกำหนดให้ สนช. ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. หลังจากเข้ารับตำแหน่งภายใน 30 วัน ดังนั้น หากยึดถือตามธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนปี 2549 ที่ผ่านมา สนช. ก็มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เชื่อว่า ที่ประชุม ป.ป.ช. คงยึดถือตามแนวปฏิบัติเดิมที่เคยมีมา ซึ่ง สนช. หลายคนเข้าใจดีว่า ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ส่วนเมื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้วจะต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบเหมือนกรณี ส.ส. และ ส.ว. หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นของที่ประชุม ป.ป.ช. ในวันที่ 14 สิงหาคมนี้
       
       เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์ทางกฎหมายแล้ว สนช.ก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 30 วันแน่นอน ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่ในตอนนี้ก็สมควรไปเตรียมตัวเอาไว้แต่เนิ่นๆได้เลย 
       
       อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าชื่นชมก็คือ บรรดาสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากสายกองทัพ นายทหารระดับหัวแถว ระดับคุมกำลัง เป็นแกนหลักของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)หลายคน เช่น พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และ ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และ พล.ท.วลิต โรจนภักดี ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติฯต่างยินดีกลับไม่อิดออด ยินดีให้ตรวจสอบและพร้อมเปิดเผยทรัพย์สิน เพียง เพียงแต่รอให้มีการแจ้งมาเท่านั้น
       
       แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อจากนั้นก็คือ แล้วในส่วนของสมาชิกในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ละ สมควรต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับเอาไว้ แต่เชื่อว่ามาถึงขั้นนี้หากให้สังคมช่วยตอบก็คงต้องตอบตรงกันว่า "สมควรยื่น"เพราะหากให้ สมาชิกสภานิติบัญญัติต้องยื่นตามธรรมเนียมปฏิบัติ และตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พศ.2542 แล้ว สำหรับ คสช.ยิ่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะนอกเหนือจากทำหน้าที่ยิ่งกว่าเป็นรัฐบาล มากกว่าคณะรัฐมนตรี หรือฝ่ายบริหารแล้ว ในฐานะเป็นตัวจักรสำคัญในการปฏิรูปบ้านเมือง เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนในวันข้างหน้า ก็ยิ่งต้องเป็นตัวอย่าง ต้องสร้างบรรทัดฐานที่เหนือกว่า อย่าให้ใครมาค่อนแคะกล่าวหาเอาได้
       
       เพราะนี่คือการแสดงออกถึงมาตรฐานทางจริยธรรม สปิริตของบุคคลสาธารณะที่ก้าวเข้ามาทำหน้าที่กุมชะตาของบ้านเมืองเอาไว้ทุกด้าน ยิ่งเป็นผู้นำยิ่งต้องถูกตรวจสอบ ขณะเดียวกันก่อนที่จะถูกตรวจสอบก็ต้องเปิดเผยให้เคลียร์เสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สง่างาม และที่สำคัญจะกลายเป็นเงื่อนไขให้อีกฝ่ายใช้เป็นเงื่อนไขในการ"ดิสเครดิต"โดยไม่จำเป็น
       
       นอกจากนี้เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ต้องมองไปข้างหน้าไปถึงรัฐบาล คณะรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็ต้องมีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในทำนองเดียวกันด้วย ไม่ยื่นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะหากไม่ยื่นหรือทำอิดออดก็จะเสียหายทันที ซึ่งน่าจะมองออกว่าจะอะไรจะเกิดขึ้นมาตามมา แต่เชื่อว่าถึงอย่างไรทุกองค์กรดังกล่าวในที่สุดก็ต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารอให้กระบวนการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)มีการประชุมในวันที่ 14 สิงหาคมให้เกิดความชัดเจนเสียก่อนเท่านั้น
       
       และแม้ว่านี่เป็นแค่จริยธรรมเบื้องต้น แต่เชื่อว่ามีความหมายยิ่งใหญ่ และ มีผลสะท้อนรุนแรงไม่เบาเลยหละ !! 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น