วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2557

'พิเชษฐ' โพสต์เตือน คสช.แก้ปมลอตเตอรี่ผิดจุด



"พิเชษฐ" โพสต์เตือน คสช.แจกแจงละเอียดยิบ ต้นตอปัญหาลอตเตอรี่แพง ชี้ แก้ผิดจุดหลงทิศ สั่งพิมพ์เพิ่มรังแต่จะเพิ่มปัญหาในวังวนผลประโยชน์ เปรียบ คสช.ตาบอดคลำช้าง
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต รมว.คลังและอดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความเรื่อง ปัญหาราคาสลากกินแบ่งในหัวข้อ "ปัญหาราคาสลากกินแบ่ง สิ่งที่ วปอ. ไม่ได้สอน" ว่า ผมเคยโพสต์ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ก.ค.57 เตือน คสช.และผู้รับหน้าที่แก้ไขปัญหาราคาสลากฯ แก้ปัญหานี้ แบบตาบอดคลำช้าง เพราะผมเคยมีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่ง ของ สนง.สลากฯ อยู่บ้าง เพราะเคยเป็น รมต. ผู้กำกับดูแลกิจการของ สนง.สลากกินแบ่งฯ อยู่ 3 ปีกว่า (ระหว่างปลายปี 2540-ต้นปี 2544) ได้เคยพยายามคิดวิธีแก้ไขราคาขายสลากกินแบ่ง จากราคาหน้าสลากใบละ 40 บาท หรือคู่ละ 80 บาท หยุดไว้ได้ที่ ราคาประมาณคู่ละ 90 บาทเศษๆ (แล้วแต่สถานที่และผู้จำหน่าย) ไม่เคยถึง 100 บาท
นายพิเชษฐ ระบุต่อว่า ขณะนั้นมีสลากออกมาเพียง 40 ล้านฉบับ แบ่งเป็นสลากกินแบ่ง 30 ล้านฉบับ และสลากการกุศลอีก 10 ล้านฉบับ ตั้งแต่ผมเข้ารับหน้าที่จนวันพ้นจากตำแหน่ง สลากไม่เคยพิมพ์เพิ่ม ผมเป็นคนขอจากที่ประชุม ครม. ไม่ให้อนุมัติสลากการกุศลเพิ่มอีก เพราะเชื่อว่าการเพิ่มจำนวนสลากไม่ใช่การแก้ไขปัญหาขายสลากเกินราคา แต่ยิ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการทุจริตหาผลประโยชน์จากการขายโควตาสลาก และยิ่งมีการแย่งกันให้ผลประโยชน์จากต้นทางมากขึ้น ราคาสลากปลายทางถึงมือผู้บริโภคก็จะยิ่งสูงขึ้น เหตุผลหนึ่งที่ศาลเคยตัดสินให้ อดีตรัฐบาลชุดหนึ่งมีความผิด เพราะขัดมติ ครม. ที่ผมนำเสนอนี่เอง
นายพิเชษฐ โพสต์ต่อว่า เมื่อผมออกจากตำแหน่ง โควตาสลากกินแบ่งทั้งหมด มีเท่าเดิม ผมไม่เคยอนุญาตให้พิมพ์สลากเพิ่มเลยแม้แต่เล่มเดียว สลากกินแบ่งมาพิมพ์เพิ่มขึ้นในรัฐบาลต่อมาเกือบเท่าตัว จากเดิม 40 ล้านฉบับ เพิ่มมาเป็น 70 ล้านฉบับ จนปัจจุบันเป็น 72 ล้านฉบับ โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาสลากขายเกินราคา จนสุดท้ายราคาสลากคู่ละ 80 บาท ได้เพิ่มขึ้นเป็น 110 บาท และ 120 บาท ในช่วงบางเทศกาล ผมขอย้ำว่า การพิมพ์สลากเพิ่มไม่ได้แก้ปัญหา แต่เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องแสวงหาผลประโยชน์จากโควตาจำนวนที่เพิ่ม จนเป็นแหล่งคอร์รัปชันที่มหาศาล เพราะสลากกินแบ่งมีลักษณะพิเศษกว่าสินค้าอื่นๆ คือ ประการแรก สินค้าทั่วไปแต่ละชิ้น ราคาเท่ากัน มีลักษณะเหมือนกัน มีคุณค่าในแต่ละชิ้นเหมือนกัน แต่สลากกินแบ่งแต่ละฉบับ ความนิยมในตัวเลขแต่ละงวดไม่เหมือนกัน เช่น สลากที่มีตัวเลขเดียวหลายๆ ตัวในฉบับเดียวกัน ไม่ว่าด้านหน้า หรือด้านหลัง จะไม่เป็นที่นิยม เช่น เลข 1 หกตัว ถึงเลข 9 หกตัว หรือมีเลขหลังหรือเลขหน้า 4-5 ตัว เป็นเลขเดียวกันจะขายยาก ลูกค้าไม่นิยมซื้อ ผู้ขายอาจต้องเก็บไว้เอง ส่วนเลขที่ออกซ้ำกับงวดที่ผ่านมาทุกรางวัล เช่นรางวัลที่ 1 รวมทั้งรางวัลอื่นๆ ที่ออกแล้ว โดยเฉพาะเลขท้าย 2 ตัว และเลขท้าย 3 ตัว ผู้ซื้อจะไม่สนใจ และเหลือทุกงวด
นายพิเชษฐ ระบุต่อว่า ประการที่ 2 เลขเหล่านี้ภาษาสลากเรียกว่า "เลขเน่า" ส่วนประการที่ 3 เลขเน่าในรูปแบบต่างๆ นี้ ถัวเฉลี่ยจะตกประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนสลากแต่ละงวด ผู้ขายต้องขายลดราคาในวันออกสลาก หรือต้องเก็บไว้เอง การเก็บสลากเหล่านี้ไว้เอง ถึงแม้มีโอกาสถูกรางวัลได้เหมือนสลากเลขอื่นๆ แต่เท่ากับต้องขาดทุนไปประมาณร้อยละ 40 เพราะโอกาสถูกรางวัลมีเพียงร้อยละ 60 ตามรางวัลที่จ่ายเท่านั้น ประการที่ 4 สนง.สลากฯ มีความจำเป็นต้อง จำหน่ายสลากไปให้หมดทุกงวด เพราะเงินรางวัลทุกรางวัลคำนวณจากยอดสลากที่จำหน่ายหมด จึงจำเป็นต้องจัดเป็นโควตา ให้ยี่ปั๊วรับไปเป็นลอตใหญ่ๆ โดยคละเลขสวยกับ "เลขเน่า" ไปด้วยกัน ให้ยี่ปั๊วไปจัดการบริหารการจำหน่ายแก่รายย่อยต่อไปเอง ประการที่ 5 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุน จาก "เลขเน่า" ยี่ปั๊วรายใหญ่จึงแก้ไขด้วย การรับซื้อเลขสวยจากรายอื่นๆ ในราคาสูงขึ้นกว่าหน้าสลาก เอามารวมกับเลขสวยของตนจัดชุดขาย และขายในราคาสูงกว่าราคาหน้าสลาก สูงแค่ไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์รวมสลากกันมากี่ต่อ และแต่ละต่อคิดกำไรไปเท่าไร จนกลายเป็นราคาผู้ขายคนสุดท้ายต้องซื้อมาในราคาสูงกว่ากำหนด สูงขึ้นเท่าไร ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และระยะทางใกล้ไกล
อดีตรมว.คลัง ระบุต่อว่า ประการที่ 6 จะตัดคนกลาง โดยกองสลากขายตรงต่อรายย่อยในราคาควบคุมได้หรือไม่นั้น อันดับแรกต้องคำนึงถึงว่า สลากในแต่ละงวดมีถึงประมาณ 70 ล้านฉบับ มีมูลค่าถึงประมาณ 2,800 ล้านบาท มีเวลาจัดการจ่ายสลาก และรับชำระค่าสลากเพียงไม่เกิน 3 วัน เพื่อให้รายย่อยมีเวลาจำหน่าย จากนั้นหากถัวเฉลี่ยรายย่อยคนละ 10 เล่ม ก็จะต้องมีรายย่อยจากทุกสารทิศทั่วประเทศมารับสลากถึงประมาณ 70,000 คน สำนักงานสลากคงไม่สามารถหาสถานที่และจำนวนคนมารองรับ ผู้รับสลากถึงประมาณ 70,000 คนดังกล่าว เพื่อบริหารการจำหน่ายสลากที่มีมูลค่าถึงประมาณ 2,800 ล้านบาท ในระยะเวลาไม่เกิน 3 วันได้ จึงต้องดำเนินการผ่านตัวแทน เช่น กรมบัญชีกลาง มหาดไทย จังหวัด มูลนิธิ สมาคมการกุศล สมาคมคนพิการ บริษัท และรายย่อยต่างๆ แล้วแต่กำหนด ส่วนตัวแทนยี่ปั๊วหรือซาปั๊วดังกล่าว ก็ต้องประสบปัญหาการบริหาร และ "เลขเน่า" ดังกล่าวเหมือนกัน ตัวอย่างรายย่อยที่มีโควตาสิบเล่ม เกิดได้เล่มที่มีเลขเหมือน 6 ตัว หรือเลขเหมือน 5 ตัวแรกหรือ 5 ตัวหลัง เขาจะรับการขาดทุนจากสลากเล่มนั้นเพราะขายไม่ได้อย่างไร ทางออกคือเขาอาจจะหาทางโดยทิ้งสลากงวดไม่ยอมรับสลากงวดนั้น แล้วผู้รับช่วงจากกองสลากจะทำอย่างไรคืนสลากก็ไม่ได้ เก็บไว้ขาดทุนก็ไม่มีคนยอมรับผิดชอบ
นายพิเชษฐ ระบุอีกว่า เมื่อเกิดความขัดข้องดังกล่าว ทำให้ต้องมีนิติบุคคลรายใหญ่เข้าทำสัญญา ตัดตอนรับเป็นโควตาสลากจำนวนใหญ่ออกไป นิติบุคคลเหล่านี้ ต้องรับสลากไปให้หมด เหลือคืนไม่ได้ โดยต้องทำสัญญา และมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเพื่อบังคับหากผิดสัญญา ส่วนปัญหาความยุ่งยากเกิดขึ้นและลุกลามไปเรื่อยคือ หน่วยงานที่รับสลากไป เกรงกลัวความยุ่งยากเลยยอมขายโควตาตัดตอนให้กับบริษัทนิติบุคคล เพราะสะดวกกว่าการไปจัดสรรให้แก่รายย่อยเอง สมาคมและมูลนิธิต่างๆ ก็ไม่ยอมจัดสรรโควตาให้แก่รายย่อยที่เป็นสมาชิกเอง กลับเอาโควตาไปขายเอากำไรจากบริษัทนิติบุคคล สมาชิกขององค์กรก็ไม่ยอมไปรับโควตาของตนมาขาย แต่กลับมอบอำนาจ ตัดขายโควตาให้ต้นสังกัดไปขายต่อ โดยรับกำไรเป็นเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว บางคนขายโควตาของตนไปแล้ว กลับไปซื้อสลากจากบริษัทนิติบุคคลในราคาแพงมาขายอีกที แล้วอ้างว่าตนทุนซื้อมาราคาแพง "ปัญหาสลากเกินราคาเป็นปัญหาที่มีผู้ลองดีตลอด สุดท้ายก็กระโดดไปร่วมในผลประโยชน์มหาศาลตลอดมา คสช.ประกาศเป็นนโยบาย ร่วมเป็นตาบอดคลำช้างเหมือนผู้อื่น ต้องรู้ว่า ความคิดหลายอย่างเป็นความคิดที่ดี แต่เวลาต้องปฏิบัติ มันทำไม่ได้ เพราะพฤติกรรมมนุษย์ทำให้ทำไม่ได้ บางอย่างยากตั้งแต่วันนี้ บางอย่างทำสำเร็จบางส่วนในวันนี้ แต่จะพลาดในวันหน้า พลาดงานแรกคือการคิดพิมพ์สลากเพิ่มอีก 2 ล้านฉบับ ขอบอกว่าไม่ใช่คำตอบ มีแต่จะเพิ่มการทุจริตคอร์รัปชันให้มากขึ้น" นายพิเชษฐ ระบุทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น