กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานและภาคประชาชนนำโดย รสนา โตสิตระกูล วีระ สมความคิดและอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เดินหน้ายื่นหนังสือต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน |
สัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน แฉเครือปตท.หอบเงินไปลงทุนบนเกาะฟอกเงินที่อื้อฉาวของโลกจนผู้บริหารเครือปตท.นั่งไม่ติด มารอบนี้เจอจัดเต็มต่อเนื่อง ด้วยการเปิดโปงแผนฮุบท่อก๊าซฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติให้ตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของ ปตท. ทั้งหมดโดยที่มีปัญหาค้างคา เคลียร์ยังไม่จบเรื่องการส่งคืนท่อก๊าซฯ ที่ยังไม่ครบถ้วน
เหตุที่ประเด็นมหากาพย์ฮุบท่อก๊าซฯ เดือดขึ้นมาอีกครั้ง เพราะประธานบอร์ด ปตท. เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้แยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกมาตั้งเป็นบริษัทโดยให้ ปตท. ถือหุ้น 100% ภายใต้เหตุผลเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้บริการได้ด้วยแทนที่จะผูกขาดการใช้แค่ปตท. เหมือนเช่นปัจจุบัน
ขณะที่กำลังอีรุงตุงนัง ก็มีกระบวนการเร่งรีบเกี่ยวกับการจัดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการแยกท่อก๊าซฯ ผสมโรงเข้ามาอีก
ไม่นับว่า มีแรงเหวี่ยงจากประธานบอร์ดปตท.กรณีที่ถูกชมรมวิศวะฯจุฬาฯ (วศ.รปปท.) ซึ่งจะจัดเสวนาปฏิรูปพลังงาน ในวันที่ 26 ส.ค. 2557 ที่สโมสร กองทัพบก โดยพาดพิงถึงนายปรก อัมระนันทน์ บิดาของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ดปตท. เกี่ยวกับพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ 2514 ว่าเป็น "พ.ร.บ.ทาส" ทำเอาประธานบอร์ด ปตท. ของขึ้น
แต่ละเรื่องราวชวนติดตามชนิดห้ามกระพริบตา
มาเริ่มต้นด้วย "มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซสมบัติชาติ" ซึ่งน.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว. กรุงเทพฯ โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของ ปตท. โดยให้ ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 ก่อนที่จะมีการแปรรูป ปตท. ในส่วนของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ ให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วย
น.ส.รสนา ระบุว่า นายปิยสวัสดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยให้เป็นของบริษัท ปตท. หลังจากนั้นก็แล้วแต่ คสช. จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทน ปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซ ก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้งในปี 2558
อดีตส.ว.กรุงเทพฯ ตั้งข้อสังเกตว่าการอ้างมติ ครม. ในปี 2544 เป็นการมั่วนิ่ม เพราะมติของกพช. เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2544 ที่มอบหมายให้ ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจก่อนการแปรรูปไปแยกท่อส่งก๊าซ และมอบหมายให้ ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 แสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100%
แต่สิ่งที่นายปิยสวัสดิ์ จะดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยระยะแรกเป็นของ บริษัท ปตท. ก่อนนั้น ย่อมมีความแตกต่างจากมติของกพช. เพราะ ปตท. ในขณะนี้เป็น บมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้น 49% ปตท.ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ100% เหมือนก่อนแปรรูป ดังนั้น การแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอของนายปิยะสวัสดิ์ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเจ้าของ100% ตามมติเดิมของกพช.
“มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซภาคสมบูรณ์จะเกิดขึ้นและสำเร็จได้ ถ้า คสช. หลงคารมวาทกรรมว่ารัฐไม่ควรถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจอีกเลย เพื่อหนีการล้วงลูกของนักการเมือง ข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ คือ รัฐควรขายกรรมสิทธิในรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยเฉพาะ ปตท. ให้เหลือ 0% และกรณีท่อส่งก๊าซ หากยึดได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด จากนั้น คนไทยก็จะตกเป็นอาณานิคมของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ หลังจากครอบครองกลไกเครื่องมือ คือ ระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน และได้กรรมสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียม ราคาพลังงานจะขึ้นเท่าไร ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว
“ส่วนมหากาพย์ฮุบสมบัติชาติภาคสมบูรณ์ จะเป็นการช่วยต่อยอดให้กับการฮุบสมบัติชาติภาคแรกเมื่อปี 2544 ให้สำเร็จในสมัยนี้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง”
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่าน เครือข่ายประชาชน นำโดยกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน ได้จัดแถลงข่าวคัดค้านการแยกท่อก๊าซฯ พร้อมกับยื่นหนังสือถึง คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 6 แห่ง ก่อนจะมีการประชุม กพช. ในวันที่ 15 ส.ค. 2557 โดยเครือข่ายฯ เห็นว่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ได้มาจากอำนาจมหาชนของรัฐ ทั้งบนบกและทะเล เป็นสมบัติของแผ่นดิน ปตท. ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐได้ ควรโอนกลับไปเป็นกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ที่จัดสรรงบให้ ปตท. ไปลงทุนท่อก๊าซตั้งแต่ก่อนมีการแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน
นอกจากนั้น การที่ ปตท. จะจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการท่อก๊าซเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาเช่าใช้นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ระบุว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ได้เปลี่ยนสภาพจากองค์การของรัฐ ซึ่งเป็นนิติบุคคลมหาชน ไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่มีสถานะเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป และไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้ ต้องโอนท่อก๊าซทั้งหมดกลับไปเป็นของรัฐ
"เครือข่ายภาคประชาชนยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปตท. แอบอ้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอื่น เช่น ท่าเรือ แท่นจุดเจาะปิโตรเลียม โรงแยกก๊าซ และคลังก๊าซด้วย ซึ่งเห็นว่าต้องพิสูจน์ทราบให้ชัดเจนว่าควรคืนให้รัฐหรือไม่ ก่อนที่ ปตท.จะดำเนินการอื่นใด" นางรสนา กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. ยืนยันว่า การแยกท่อก๊าซออกมาเป็นบริษัทในเครือ ปตท.เป็นการดำเนินตามมติ ครม. ก่อนมีการแปรรูป ปตท. ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบโครงสร้างต้นทุนมีความโปร่งใส ขณะเดียวกัน ก็จะเปิดให้บุคคลรายอื่นเข้ามาใช้ท่อก๊าซ ส่วนการส่งคืนทรัพย์สินของ ปตท.แก่กระทรวงการคลังไปแล้วนั้นเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดแล้ว
สำหรับการประชุม กพช. ในวันที่ 15 ส.ค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ในฐานะประธาน กพช. นั่งหัวโต๊ะ นั้น มีวาระเพื่อพิจารณาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ ระยะ20 ปี พ.ศ. 2558-2578 ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องท่อก๊าซฯ แต่กล่าวถึงปัญหาด้านพลังงานต้องรับฟังประชาชนว่ามีความเดือดร้อนอย่างไร ต้องการมีส่วนร่วมอย่างไร ก่อนจะกำหนดการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมกับประโยชน์การพัฒนาพลังงานทุกด้าน ทั้งนี้ขอให้แนวทางการพัฒนาพลังงานเริ่มต้นใหม่ จะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงทุกเรื่อง ทุกมติ หรือมีการทบทวน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์มันนี่ชาแนล ว่า นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพช. มีมติให้ บมจ.ปตท.(PTT) แยกธุรกิจท่อก๊าซฯออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2558 และกพช.ยังเห็นชอบให้ปตท. ปรับโครงสร้างธุรกิจโรงกลั่น โดยการลดจำนวนโรงกลั่นที่ปตท.ถือหุ้นลงภายในกลางปี 2558 ด้วย
ในที่สุด การแยกท่อก๊าซฯ ก็เสร็จปตท.
ปิดท้ายวิวาทะว่าด้วยเรื่องพลังงานในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยเรื่องที่คสช. อนุมัติให้ชมรมวิศวะฯ จุฬาฯ (วศ.รปปท.) และกลุ่มทหาร ตำรวจนอกประจำการ ที่ภักดีต่อสถาบันฯและยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ( นกภป.) ที่มี พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ และอดีตผบ.เหล่าทัพเป็นประธาน รองประธานกลุ่ม และสมาคมนักรบนิรนาม333 จัดเสวนาปฏิรูปพลังงาน ที่สโมสรกองทัพบก วันที่ 26 ส.ค. 2557 เวลา 09.00-14.00 น. หลังจากที่มีการเลื่อนจากกำหนดการเดิมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2557
การเชิญชวนเข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากการโพสเฟซบุ๊กเชิญชวนไม่ไปพาดพิงถึงนายปรก อัมระนันทน์ บิดาของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เกี่ยวกับพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ 2514 ว่าเป็น พ.ร.บ.ทาส ที่นายปรก คัดลอกจากลิเบีย เพื่อต้องการปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมของเครือจักรภพ จึงยอมเป็นเบี้ยล่างทุกประการด้านผลประโยชน์แบ่งปันเพื่อแลกกับอิสรภาพ ทำให้นายปิยสวัสดิ์ ออกแถลงการณ์ผ่านโซเชียลมีเดียมาตอบโต้ ว่าบิดาของตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการออกกฎหมายดังกล่าว
“นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็น "พ.ร.บ.ทาส" หรือไม่ สมควรพิจารณาจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่การกล่าวอ้างด้วยวาทกรรมที่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่บิดเบือน ประกอบกับแนวคิดประชานิยมและการปลุกเร้าความคลั่งชาติ การที่ข้อความเชิญชวนมีข้อมูลที่เป็นเท็จ อีกทั้งยังมีลักษณะการใส่ร้ายป้ายสีและสร้างความเกลียดชัง ทำให้น่าเป็นห่วงว่าสิ่งที่นำเสนอในงานเสวนาจะเป็นข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จเหมือนในคำเชิญ จึงขอฝากกองทัพบกในฐานะเจ้าของสถานที่ ว่าไม่ควรให้มีการใช้สถานที่ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีบุคคลอื่น สร้างความเกลียดชัดและความแตกแยกในสังคมไทย” นายปิยสวัสดิ์ ฝากถึงกองทัพบก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น